Review : เลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS ลองจับลองเล่นระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้
เป็นเลนส์ตัวใหม่ของทาง Sony ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาเมื่อไม่นานมานี้ และน้าป๋วยก็ได้มีโอกาสหยิบจับมาทดสอบ ใครที่เป็นแฟนๆ Sony และต้องการเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้ไว้ใช้งาน ลองอ่านบทความรีวิวนี้ดู กับเลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS ว่ามีจุดเด่นและความน่าใช้ตรงไหนบ้าง
เริ่มจากเรื่องของรูปร่างหน้าตาของเลนส์กันก่อนเลยดีกว่า เลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS นั้นมาพร้อมกับขนาดความยาวตัวเลนส์ 318mm หรือประมาณหนึ่งไม้บรรทัด ตัวเลนส์มีขนาดหน้าเลนส์ 95mm ทำให้มีขนาดกระบอกที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งปกติของความเป็นเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้นั้น ก็จะมีขนาดใหญ่ยาวเป็นปกติ ตามมาด้วยน้ำหนักตัว 2,115 กรัม หรือประมาณสองกิโลกรัมนิดๆ โดยรวมแล้วทำให้เลนส์ตัวนี้มีความน่าเกรงขามเมื่อติดเข้ากับกล้อง โดยตัวเลนส์มีฮูดและขาตั้งที่สามารถถอดแยกได้มาให้ด้วย สรุปแล้วเลนส์ตัวนี้มีขนาดใหญ่โตแน่นอน
แต่ที่ได้มากับเลนส์ที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ก็คือ ช่วงซูมที่มากขึ้น โดยมีระยะเริ่มต้นที่ 200mm และซูมสุดไปที่ 600mm นั่นเอง เลนส์ตัวนี้จึงเหมาะกับการถ่ายภาพสัตว์ การถ่ายภาพนก หรือหารถ่ายภาพกีฬา ที่จำเป็นต้องใช้ช่วงระยะทางยาวโฟกัสสูงนั่นเอง แต่เลนส์ตัวนี้มีรูรับแสงที่ f5.6-6.3 ซึ่งหมายความว่าเป็น f ไหล และค่ารูรับแสงเริ่มต้นไม่ได้กว้างมากนัก เพราะหากทำให้รูรับแสงกว้างกว่านี้ น้ำหนักตัวและขนาดคงไม่ใช่เท่านี้แน่นอน ดังนั้นจึงเหมาะกับการเป็นเลนส์ที่ใช้งานกลางแจ้งที่มีแสงดีๆมากกว่า หรือไม่ก็ต้องไปดัน ISO เอา
ในส่วนของรายละเอียดตัวเลนส์ก็จะมีปุ่มควบคุมต่างๆเฉกเช่นเดียวกับเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้อื่นๆ ทั้งการควบคุมระบบโฟกัส , ระยะการโฟกัส , การเปิด-ปิดระบบกันสั่น รวมไปถึงโหมดการทำงานของระบบกันสั่นที่มีให้เลือก 3 แบบคือ 1. โหมดปกติสำหรับการถ่ายภาพทั่วไป 2. โหมดสำหรับการถ่ายภาพแพนนิ่ง (Panning) และ 3. โหมดสำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวในแบบที่คาดเดาทิศทางไม่ได้ เช่น การถ่ายภาพกีฬา เป็นต้น ในส่วนของระบบโฟกัสนั้น เลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS ใช้มอเตอร์แบบ Direct Drive Super Sonic wave Motor ซึ่งเป็นระบบที่ใช้การทำงานของแม่เหล็กไฟฟ้าในการเคลื่อนที่ของชุดเลนส์ ต่างจากระบบเฟืองขับ สามารถทำงานได้รวดเร็วและเงียบ
ส่วนชิ้นเลนส์นั้นอัดแน่นด้วยการใส่ชิ้นเลนส์พิเศษมาให้สมกับเป็นเลนส์เกรดโปร เพราะต้องบอกว่าเลนส์ตระกูล G ของ Sony นั้น ได้รับการพัฒนามาจากเลนส์ G ของกล้อง Minolta เดิมที่ทาง Sony เข้าไปซื้อกิจการมา ดังนั้นเลนส์รหัส G ยังคงเป็นเลนส์เกรดโปรที่ให้คุณภาพสูง เพียงแต่ทาง Sony ได้พัฒนาต่อยอดเรื่องของชิ้นเลนส์ขึ้นไปอีกจนมีเลนส์ตระกูล G Master ออกมาเป็นตัวท็อปสูงสุดนั่นเอง สำหรับเลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS มาพร้อมกับชิ้นเลนส์ทั้งหมด 24 ชิ้น 17 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์ Aspherical 1 ชิ้น และชิ้นเลนส์ ED (extra-low dispersion) ถึง 5 ชิ้น เพื่อให้คุณภาพออพติคที่ยอดเยี่ยม แถมมาพร้อมกับซีลป้องกันละอองน้ำและฝุ่น มีกลีบรูรับแสง 11 ใบ
ทางด้านเรื่องการจับถือเมื่อต่อเข้ากับกล้องแล้ว จะมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเลนส์จะเทไปข้างหน้าตามสไตล์เลนส์ขนาดใหญ่ แต่สามารถปรับตั้งค่าต่างๆได้สะดวก โดยเฉพาะปุ่ม Focus Hold บนตัวเลนส์มีให้ถึงสามจุด เวลาจะถ่ายภาพแนวตั้งก็ทำได้สะดวก ส่วนวงแหวนซูมจะอยู่ด้านนอก เวลาประคองซูมจะนิ่งเพราะบาลานซ์ตำแหน่งการจับถือได้สมดุล
ลองไปใช้งานทดสอบจริงกันบ้าง เลนส์ตัวนี้เมื่อต่อเข้ากับกล้องแล้ว แนะนำว่าหากริปเสริมจะทำให้ถือได้สะดวกขึ้น เพราะด้วยขนาดและน้ำหนักของเลนส์ที่ใช้งานกับกล้องขนาดเล็ก ถือนานๆไปก็เมื่อยนิ้วเหมือนกัน แต่สิ่งที่แลกมาก็คือเรื่องระยะการถ่ายภาพที่สามารถดึงภาพระยะไกลได้ดีและสะดวกจริงๆ เพราะช่วงซูมที่ให้มานั้นทำให้จัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพสัตว์ที่มักจะเข้าใกล้มากไม่ได้ ทำให้มีโอกาสได้ภาพแบบใกล้ๆชัดๆ และที่น้าป๋วยประทับใจก็คือเรื่องความคมของเลนส์ที่เมื่อเห็นภาพจากเลนส์ตัวนี้แล้วต้องยกนิ้วให้เลยว่า คมกริบจริงๆ ต้องบอกว่า Sony ทำเลนส์รุ่นใหม่ๆออกมานั้น เน้นเรื่องความคมที่ใช้งานกับกล้องความละเอียดสูงๆได้ดี
ลองครอปภาพออกมาดูให้เห็นกัน จะเห็นได้ว่าความคมของเลนส์ตัวนี้สามารถแยกรายละเอียดของภาพออมาได้ดี สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพสัตว์ที่ต้องการเห็นรายละเอียดขนหรือผิวหนังของสัตว์ รับรองว่าเลนส์ตัวนี้ตอบโจทย์การถ่ายภาพได้คมไม่แพ้เลนส์ตระกูล G Master เช่นกัน
ลองแหงนถ่ายเครื่องบินลำโตๆที่กำลังบินอยู่กันบ้าง มองด้วยตา ณ ตอนนั้น คือเห็นเป็นลำจิ๋วๆอยู่บนท้องฟ้า แต่ด้วยการดึงซูม 600mm แล้วทำให้ได้ภาพเครื่องบินเต็มลำ แถมยังได้รายละเอียดเห็นตัวอักษรบนปีกเครื่องบิน และที่สำคัญคือเรื่องของพวกขอบม่วงก็ไม่เห็นมี ถ้าเป็นเลนส์เก่าๆโบราณๆ เวลาแหงนถ่ายกับท้องฟ้าแดดเปรี้ยงๆแบบนี้ จะเห็นขอบม่วงตัดกับสีขาวของเครื่องบินแน่ๆ ตรงนี้ต้องบอกว่าเลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS ให้คุณภาพออพติคที่ดีมากๆ
ลองย้อนแสงแบบตรงๆ ก็คุมแฟลร์ได้อยู่หมัด ดังนั้นเรื่องคุณภาพออพติคของเลนส์ตัวนี้จึงเป็นอันสอบผ่านได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว ถ้าเน้นเรื่องของภาพจริงๆ เลนส์ตัวนี้ไม่ผิดหวังเลยถ้าใครเล็งๆอยู่ โดยเฉพาะถ้าเอาไว้ถ่ายอะไรไกลๆ จะได้ช่วงระยะทำการที่เหนือกว่าตาเห็นมากๆ แม้ว่าจะเป็นเลนส์ที่มีน้ำหนักมาก แต่จริงๆแล้วหากเทียบกับเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้ในตลาดด้วยกัน เลนส์ตัวนี้ถือว่าทำออกมาได้เบากว่าเยอะ สามารถใช้มือยกถ่ายได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งขาตั้งกล้องมากนัก
แล้วระยะทำการระหว่าง 200mm กับ 600mm ต่างกันมากแค่ไหน สำหรับคนที่ไม่เคยลอง ก็เลยนำภาพตัวอย่างมาให้ชมกัน โดยภาพบนที่เห็นเป็นระยะ 200mm ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นชินกัน เพราะน่าจะเป็นระยะที่ใช้งานบ่อยในเลนส์ยอดนิยมหลายๆตัว เช่น Sony FE 70-200mm f2.8 GM เป็นต้น และที่ระยะ 200mm นั้น แม้จะดึงภาพเข้ามาได้ใกล้แต่ก็ดูเหมือนเป็นวิวทิวทัศน์กว้างๆ หากมองด้วยตาเปล่าแล้วแทบจะมองไม่เห็นท่าเรือในภาพเลยเพราะอยู่ห่างออกไปหลายกิโลฯ
ส่วนอีกภาพลองถ่ายที่ 600mm สามารถดึงเอาระยะให้เห็นท่าเรือได้ใหญ่ขึ้น เหมือนกับว่าครอปภาพตรงกลางในภาพแรกกออกมา ซึ่งการที่เลนส์สามารถดึงระยะออกมาได้มากขึ้น เวลาเอาไปใช้ถ่ายพวกสัตว์หรือถ่ายกีฬาก็จะได้เต็มๆเฟรมนั่นเอง หรือใครจะสอยมาถ่ายไอดอลก็เหมาะนะ ถ้าคิดว่า 200mm ไม่เพียงพอ จะมีจุดด้อยอยู่หน่อยตรงที่ f แคบและไหลเท่านั้น เน้นดึง ISO เอาละกัน
แต่เลนส์ตัวนี้ต้องอย่าลืมว่ามีระบบกันสั่นมาให้ด้วย การใช้มือปรคองถือถ่ายอย่างเดียวนิ่งๆก็พอไหวอยู่ ระยะทำการที่ 600mm นั้น ลองใชความเร็วชัตเตอร์สักประมาณ 1/200 ก็ยังพอได้อยู่ ทั้งนี้ตัววัตถุ ตัวแบบต้องอยู่นิ่งๆด้วยนะ เอาไปถ่ายนกที่บินเร็วๆแล้วจะจับจังหวะการบินก็ต้องพึ่งความเร็วชัตเตอร์ที่สูงหน่อย ซึ่งรูรับแสงที่ให้มานั้นไม่ได้กว้างมากนัก ต้องเจอแสงดีๆหรือดัน ISO อย่างที่บอกไป
แล้วระบบโฟกัสล่ะ เป็นยังไง จากการได้นำมาใช้งานแบบจริงจัง พบว่าระบบโฟกัสของเลนส์ตัวนี้ทำงานได้ไว รวดเร็วมากๆ เมื่อใช้งานกับกล้องที่มีความเร็วสูงอย่างเช่นพวก Sony A9 II ยิ่งกดสนุก เพราะกล้องก็ฉลาดและเร็ว บวกกับเลนส์ที่ทำงานประสานกันดีๆแบบนี้ ยก เล็ง แล้วกดได้เลย เลนส์จะโฟกัสแบบ Tracking แบบชนิดไม่มีการหลุดโฟกัสให้เห็น หรือถ้าลองกับกล้องในระดับทั่วไปอย่าง Sony A7 III ก็ยังทำงานได้รวดเร็วไม่แพ้กัน แม้ว่าระบบ Tracking ของกล้องจะด้อยกว่าอยู่บ้าง
รูปด้านบนเป็นตัวอย่างการถ่ายภาพนก ในจังหวะที่กำลังบินได้อย่างสวยงาม ต้องออกตัวก่อนว่า น้าป๋วยเองไม่ใช่สายถ่ายนกแบบจริงจัง แต่ก็พอรู้เทคนิคของการถ่ายภาพแนวนี้อยู่ ทีนี้ถ้าเป็นยุคฟิล์มหรือกล้องและเลนส์ที่มีระบบโฟกัสไม่ได้รวดเร็วเหมือนกับที่ใช้ในตอนนี้ คงยากที่จะถ่ายภาพนกที่กำลังบินและโฟกัสได้เข้าเต็มๆชัดๆ จากการใช้งานเลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS ที่ให้ภาพคมชัดแล้ว ระบบการโฟกัสก็ยอดเยี่ยมสุดๆด้วย
มาดูต่อกันที่เรื่องโบเก้กันบ้าง สำหรับเลนส์ตัวนี้ทาง Sony ไม่ได้เน้นว่าเป็นเลนส์โบเก้อลังการแต่อย่างใด แต่สำหรับความเป็นเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้ บวกกับกลีบรูรับแสง 11 ใบก็ให้โบเก้ที่กลมสวยอยู่เหมือนกัน และแน่นอนว่าการละลายฉากหลังก็ทำได้ดีแม้จะมีรูรับแสงไม่กว้างมากนัก เพราะช่วงเทเลแบบนี้ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ง่ายกว่าเลนส์ช่วงมุมกว้างแน่ๆ
แล้วเลนส์ตัวนี้เหมาะกับใคร? คงเป็นคำถามที่หลายๆคนคงอยากรู้ ก็ต้องบอกว่า สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพกลางแจ้งน่าจะเหมาะเป็นที่สุด เพราะเลนส์ตัวนี้เน้นเรื่องขนาดที่เล็กกว่าเลนส์อย่าง 600mm f4 แน่ๆ แต่อย่างที่บอกไปว่ารูรับแสงที่ได้มานั้นก็ไม่ได้สว่าง ทำให้การถ่ายภาพกลางแจ้ง แสงดีๆน่าจะเหมาะกับการใช้งาน บวกกับการเป็นเลนส์ที่มีช่วงซูมกว้าง ถ้าใครเน้นแบกไปท่องเที่ยวก็น่าจะชอบ เพราะสะดวก ถือถ่ายได้ง่าย ส่องนก ส่องสัตว์ช่วงกลางวัน แดดดีๆได้สบาย หรือจะเน้นไปใช้งานถ่ายพวกกีฬากลางแจ้งก็ใช้สนุกแน่นอน
ลองมาใช้งานถ่ายภาพพวกวิวทิวทัศน์ดูบ้าง ก็ทำได้ดี สามารถดึงระยะของวัตถุที่อยู่ไกลๆมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เพราะถ้าเอาเลนส์มุมมกว้างไปถ่ายภาพแบบที่เห็นในภาพด้านบน ก็จะได้เป็นความเคว้งคว้างของท้องทะเล และมีบ้านชาวประมงจิ๋วๆเป็นจุดๆในภาพจนนึกว่าเป็นฝุ่นในภาพซะมากกว่า หรือใครจะพกไปเป็นเลนส์ท่องเที่ยวเพื่อดึงระยะทิวทัศน์สวยๆก็ได้นะ เพียงแต่ขนาดเลนส์อาจไม่ได้เหมาะกับการพกพา และเป็นที่สะดุดตาอยู่เหมือนกัน เพราะช่างขาวอวบดีจริงๆ
มีลองถ่ายภาพอื่นๆดูบ้างก็สนุกดี ไม่ต้องเข้าใกล้ตัวแบบ แอบส่องแบบ Candid หรือใช้ในงานอีเวนท์กลางแจ้งก็ยังไหว เอาเป็นว่าสรุปคือ ถ้าคุณเน้นใช้งานกลางแจ้ง แล้วมีอะไรให้ได้ลองถ่ายจากระยะไกล ซื้อไว้ไม่ผิดหวัง เพราะสะดวกในการใช้งาน หรือจะหามาเป็นเลนส์ช่วงต่อจากเลนส์เดิมก็ถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะถ้าเอามาใช้ถ่ายไอดอล ได้ภาพซูมใกล้ๆชัดๆกว่าคนอื่นๆแน่นอน
สรุปการใช้งานเลนส์ Sony FE 200-600mm f5.6-6.3 G OSS
จุดเด่น
- คุณภาพออพติคดีมาก ให้ภาพคมชัด คุมขอบม่วงและแฟลร์ได้ดี
- ระบบโฟกัสรวดเร็ว และทำงานได้เงียบ
- หากเทียบน้ำหนักและขนาดในกลุ่มเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้ด้วยกัน ถือว่าทำออกมาได้ไม่หนัก และขนาดกำลังดี
- ระบบกันสั่นพึ่งพาได้
- กระบอกเลนส์มีซีลป้องกันละอองน้ำและฝุ่น แข็งแรงทนทาน
- ราคาดีงาม
จุดสังเกต
- ค่ารูรับแสงเริ่มต้นแคบ และเป็นค่า f ไหล ไม่คงที่ตามช่วงซูม
- ควรต่อกริปกล้องเพื่อความถนัดในการจับถือ เพราะขนาดเลนส์ใหญ่กว่าตัวกล้องมาก